แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตั้งครรภ์ - ฝากและตรวจครรภ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตั้งครรภ์ - ฝากและตรวจครรภ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ค่าใช้จ่ายก่อนคลอด, คลอด

เราสรุปค่าใช้จ่ายก่อนที่จะคลอดเจ้าหนู อย่างค่าที่ไปตรวจครรภ์ ค่าของใช้ที่เตรียมก่อนคลอด แล้วก็ค่าคลอดที่เราออกเอง (ไม่รวมที่รัฐบาลออกให้) ตามนี้

- ค่าตรวจครรภ์ เราตรวจทั้งหมด 14 ครั้ง + ค่าตรวจที่มีผื่น + ค่าตรวจที่มีเลือดออกและนอนโรงพยาบาล ใช้จ่ายทั้งหมด 53,640 เยน

- ค่ามัดจำในการคลอด 100,000 เยน

- ค่าคลอดในส่วนที่เราออกเองจ่ายตอนออกจากโรงพยาบาล 44,200 เยน (รัฐออกให้ 420,000 เยน)

- ค่าของใช้ที่เตรียมก่อนคลอด (เสื้อผ้า เตียง เบบี้คาร์ ของเล่น เป็นต้น) 144,438 เยน

รวมค่าใช้จ่ายก่อนคลอด และคลอดทั้งหมด 342,278 เยน

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ก่อนวันคลอด

เราคลอดเจ้าหนูวันที่ 6 ก.ค. แต่ก่อนหน้านั้นก็จะมีอาการตั้งแต่วันที่ 3 หลังจากที่มาโรงพยาบาลมาตรวจเพราะมีเลือดออกเป็นสีน้ำตาล หมอบอกว่าไม่เป็นไร พอกลับมาที่บ้านเข้าห้องน้ำสีเลือดก็เปลี่ยนเป็นสีชมพู

แล้ววันที่ 4 ก.ค. นอน (ตอนกลางคืน) อยู่ก็ตื่นมาเข้าห้องน้ำ จะปวดท้องเหมือนตอนประจำเดือนมา แต่จะปวดแป๊บเดียวทุก ๆ 10 นาที แล้วก็ปวดใหม่ แต่ยังนอนหลับได้

พอมาวันที่ 5 ก.ค.  เข้าห้องน้ำก็ยังมีเลือดออกเป็นสีชมพู แล้วก็ปวดท้องตั้งแต่ตอนเช้า ปวดประมาณ 10-20 วินาที ระยะเวลาห่างกันประมาณ 10 - 15 นาที จากนั้นก็มาปวดช่วงบ่าย 2 ครั้ง แล้วก็มาปวดช่วงเย็น ช่วงกลางคืน ช่วงกลางคืนนี่จะปวดทุก ๆ 5 นาที ปวดนานอยู่ 1 นาที ปวดแบบนี้ตั้งแต่ 23.30 - ตี 5 นอนไม่ได้เลย ส่วนเจ้าหนูในท้องก็ยังดิ้นอยู่ ตอนตี 5 ปวดแบบทนไม่ไหวแล้วก็เลยโทรไปที่โรงพยาบาล พยาบาลบอกให้เข้ามาได้เลย เราก็เตรียมตัวกินขนมปัง กินนม เพราะตอนนั้นหิวมาก ๆ แล้วก็เป็นการกินเพื่อออมกำลัง เพราะเราคิดว่าน่าจะคลอดในวันนี้แหล่ะ


ในวันนี้ก็มีโทรศัพท์จากคนญี่ปุ่นที่เคยให้งานแปลมา บอกมีงานแปลให้ทำ เสียดายจังงานเข้าแต่ทำไม่ได้ ก็เลยปฏิเสธไป

แล้ววันนี้ก็โทรหาที่บ้านที่ไทยเร็วกว่าทุก ๆ วัน (เหมือนจะรู้ว่าจะคลอดแล้วเลย) เพราะจะได้เข้านอนเร็วขึ้นจะได้ไม่ปวดท้องเหมือนเมื่อวาน

เราจดเวลาที่ปวดท้องของวันนี้ด้วย
23.30  - 0.00 ปวดประมาณ 4 - 5 ครั้ง ครั้งละไม่เกินนาที แล้วเจ้าหนูก็ดิ้นเกือบตลอดเลย
0.15, 0.23, 0.31, 0.40, 0.45, ช่วงตี 1 ตี 2 ไม่ได้จด
3.05, 3.16, 3.21, 3.25, 3.31, 3.34, 3.40, 3.46, 3.52, 3.59, 4.04, 4.07, 4.12, 4.15, 4.21, 4.25, 4.29, 4.33, 4.38, 4.45, 4.50, 4.55, 5.00, 5.05

แล้วก็ไม่ได้จดหล่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มีเรื่องให้ตื่นเต้นอีกแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวานมีเลือดออก (สีน้ำตาล) เปื้อนกางเกงในนิดนึง ก็คิดแล้วหล่ะว่าน่าจะไม่มีอะไรเพราะจากที่ตรวจครั้งที่แล้ว (ครั้งที่ 14) ที่ตรวจภายใน คุณหมอบอกว่าอาจจะมีเลือดออก ก็เลยไม่ตกใจเท่าไหร่
พอเมื่อเช้านี้ ตื่นนอนรู้สึกว่าการไหลของตกขาวไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เข้าห้องน้ำดู มีไหลหยดคล้าย ๆ การไหลของประจำเดือน เอาหล่ะสิ ครั้งนี้มากกว่าเมื่อวาน ก็เลยโทรไปที่โรงพยาบาลดู เจ้าหน้าที่บอกว่าตอนนี้อายุครรภ์ 38 สัปดาห์แล้ว ถ้าจะคลอดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ให้มาโรงพยาบาลพร้อมกับกระเป๋าที่เตรียมสำหรับเข้าโรงพยาบาลมาด้วย เราก็เอาแล้วสิ คุณซูก็ไปทำงานไม่อยู่ซะด้วย ก็เลยหิ้วกระเป๋าขึ้นรถเมล์ไปโรงพยาบาล (ยังเดินเหินได้ปกติอยู่ ^^)

พอมาถึงโรงพยาบาล คุณหมอที่ตรวจไม่ใช่คุณหมอที่ตรวจประจำ เป็นคุณหมอผู้ชาย เขาก็ถามอาการ แล้วก็ให้ไปที่ห้องตรวจภายใน พอตรวจภายใน ก็เหมือนเดิมไม่ต่างจากครั้งที่แล้วที่มาตรวจ
แล้วก็ให้ไปนอน เอาสายมาพาดที่ท้อง ใช้เครื่องที่ดูการเต้นของหัวใจทารก แล้วก็ดูการตึงของท้อง เป็นเครื่องที่ผลจะออกมาเป็นกราฟ นอนอย่างนั้นอยู่ประมาณเกือบชั่วโมง หิวก็หิว รู้สึกอึดอัด คงไม่ได้เปิดแอร์หรือไงก็ไม่รู้ ร้อนอ่ะ นี่ขนาดยังไม่ได้เจ็บท้องนะเนี่ย ยังรู้สึกขนาดนี้ ตอนเจ็บท้องคลอด ไม่ค่อยอยากนึกถึงเลย ><

กราฟที่ออกมาก็ปกติ ทารกแข็งแรงดี อาการตึงของท้องก็ไม่ค่อยมี สรุปคือปกติ

ก็นั่งรอเรียกพบคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่าคงเพราะจากการตรวจภายใน ให้กลับบ้านได้ แต่ถ้ามีอาการปวดท้องอย่างทุก ๆ 15 นาที ให้มาที่โรงพยาบาล
เราก็เลยหิ้วกระเป๋ากลับบ้าน ก็ดีเหมือนกัน อยากคลอดตามกำหนดมากกว่า

ค่าตรวจในวันนี้ 990 เยน


วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 14 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ 6 วัน)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 14 (อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ 6 วัน) ครั้งนี้คุณซูไปด้วย ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปเก็บปัสสาวะ แล้วก็วัดความดัน ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 121/74 (ครั้งที่แล้ว 112/73) จากนั้นก็นั่งรอเรียก วันนี้คนเยอะมาก มีทั้งคนรอตรวจครรภ์ มีทั้งคนที่พาลูกมาหาหมอ แล้วก็มีทั้งคนที่คลอดแล้วกำลังจ่ายเงินออกจากโรงพยาบาล มีคนหนึ่งเราได้ยินที่เจ้าหน้าที่คุยเรื่องค่าใช้จ่ายในการคลอด ของคนนั้นทั้งหมดประมาณ 494,000 กว่าเยน หักเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล หักที่จ่ายมัดจำไปแล้ว สรุปเขาจ่ายเพิ่ม 4,000 กว่าเยน พอจ่ายเงินเสร็จทางโรงพยาบาลก็ให้ชุดของขวัญกลับไปด้วย เป็นการดีเหมือนกันจะได้รู้ก่อนว่าต้องทำอะไรบ้างก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลหลังจากคลอดเสร็จแล้ว

พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 70.0 (ครั้งที่แล้ว  70.0) 

จากนั้นคุณหมอจับที่ขา แล้วก็บอกว่า Mukumi purasu 1 (เท้าบวม) จากนั้นก็ซาวด์ วัดส่วนของหัว เจ้าหนูยังไม่กลับหัวเลย  จากนั้นคุณหมอก็วัดส่วนท้อง แต่หนูหายใจจนเห็นได้ชัดคุณหมอเลยบอกว่าตัวเลขที่ได้จากการวัดส่วนท้องนี้อาจจะไม่เป๊ะเท่าไหร่ แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น เพราะว่าเจ้าหนูยังไม่กลับหัว ตำแหน่งของหัวใจเลยยังอยู่บน ๆ อยู่ คุณหมอบอกว่าถ้ากลับหัวแล้ว หัวใจจะอยู่บริเวณล่าง ๆ (พร้อมทำสีหน้าเครียด ๆ เราก็เครียดด้วยเหมือนกัน เฮ้อ) 

น้ำหนักของเจ้าหนูในครั้งนี้อยู่ที่ 3,006 กรัม  (ครั้งที่แล้วอยู่ที่ 2,925 กรัม)

จากนั้นก็ไปห้องตรวจภายในเหมือนครั้งที่แล้ว คือว่าจะดูว่าตำแหน่งของเจ้าหนูอยู่ตรงไหนแล้ว คุณหมอมาบอกกับคุณซูว่าจะต้อง むりやり (เราก็ไม่รู้จะแปลยังไงดี ประมาณว่าทำยังไงก็ได้เพื่อให้เห็น เพราะตอนคุณหมอดูนี่ ก็ให้เราหายใจเข้า ๆ ลึก ๆ แล้วคุณหมอก็ใช้เครื่องมือสอดเข้าไป  เจ็บมาก) 

จากนั้นก็มาคุยกับคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่าให้พยายามนั่งยอง ๆ ลุก ๆ นั่ง  ๆ เหมือนเวลาตอนที่ถอนหญ้า อ้าขากว้าง ๆ (ทำท่าคล้าย ๆ ซูโม่ที่เขานั่งยอง ๆ กว้าง ๆ แบบนั้น)

แล้วก็บอกว่าจากการที่ตรวจภายในเมื่อตะกี้นี้อาจจะทำให้มีเลือดออก ก็ไม่เป็นไร แต่โชคดีที่เราไม่มีเลือดออก

แล้วก็ถ้าเจ็บท้องขึ้นมา หรือมีอะไรขึ้นมาให้โทรมาที่โรงพยาบาล

เราก็เลยถามว่า ดูแล้วน่าจะคลอดเร็วกว่ากำหนดหรือว่าช้ากว่ากำหนด คุณหมอก็บอกว่าน่าจะช้ากว่าที่กำหนด  ><

แล้วเราก็เลยถามต่อว่าจะสามารถคลอดแบบธรรมชาติได้หรือเปล่า คุณหมอบอกว่าได้ เพราะรูปร่างเราเป็นคนตัวสูง เรื่องกระดูกเชิงกรานเลยไม่มีปัญหาอะไร 

จากนั้นก็เลยบอกอาการตอนนี้ที่เป็นอยู่คือมือจะชา ปวดมากตอนประมาณตี 4 ปวดขนาดตื่นขึ้นมาเลย คุณหมอก็บอกว่าเป็นอาการปกติของคนท้อง รักษาไม่ได้ จะหายไปเองหลังจากที่คลอด อย่างหลังเท้าก็เหมือนกัน ทั้งอาการมือชา กับหลังเท้าเจ็บ จะไม่ได้เรียกว่าอาการบวม ซึ่งทั้งหมดจะหายไปหลังจากคลอด ก็ต้องทนอ่ะเนอะ 

 

นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 1 สัปดาห์

ค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งนี้ 2,520 เยน

อาการในช่วงนี้ :

- ยังเข้าห้องน้ำบ่อย ตอนดึกก็ยังตื่นลุกขึ้นมา 2 รอบ

- มือชาทั้ง 2 ข้าง ยิ่งถือของหนัก ๆ จะไม่มีแรงเลย

- หลังเท้า โดยเฉพาะส้นเท้าเจ็บมาก

- หลังจากตื่นนอนใหม่ ๆ ตอนจะลุก เดิน จะปวดบริเวณท้อง หลัง สะโพก

- เท้าบวมเป่งเลย บริเวณข้อเท้าถึงเท้าเหมือนจะแดง ๆ บวม ๆ

 

ปล. พอกลับมาที่บ้านดูสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ที่ช่องโปรตีนในปัสสาวะ ครั้งนี้วงที่ - + 

ทุกครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาจะวงแค่ -  แสดงว่าครั้งนี้มีโปรตีนในปัสสาวะด้วย จากการที่หาข้อมูลดูแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นช่วงใกล้คลอดด้วย แล้วคุณหมอก็ไม่ได้ทักอะไร


 

 

 

 

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เอกสารที่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นตอนตรวจครรภ์ครั้งที่ 13

ก่อนหน้าที่จะจ่ายเงิน เจ้าหน้าที่ก็มีเอกสารมาให้เราเขียนแล้วก็เซ็นชื่อ เอกสารที่ว่าจะมี 2 ฉบับ ซึ่งฉบับแรกเจ้าหน้าที่อธิบายว่า ค่าคลอดจะอยู่ที่ 420,000 เยน (ก่อนหน้านี้จ่ายค่ามัดจำไป 100,000 เยน เท่ากับว่าค่าคลอดของที่โรงพยาบาลนี้จะอยู่ที่ประมาณบวกลบ 520,000 เยน) โดยจะให้ทางบัตรประกันสุขภาพที่เราถืออยู่ (เป็นบัตรแบบครอบครัวซึ่งเป็นของบริษัทคุณซู) โอนเข้าบัญชีของโรงพยาบาลโดยตรงเลย 
เราก็เลยถามคุณซูว่าแล้วเราต้องไปยื่นขอเบิกกับสำนักงานเขตหรือเปล่า เพราะเคยอ่านเจอของคนอื่น ๆ เขาจะออกไปก่อน แล้วไปยื่นขอคืนกับทางสำนักงานเขต คุณซูก็บอกว่าในกรณีของเราไม่ต้องออกไปก่อน แล้วก็ไม่ต้องไปยื่นขอคืนกับทางสำนักงานเขตในตอนหลังด้วย เพราะเป็นการจ่ายโดยตรงระหว่างบัตรประกันสุขภาพกับโรงพยาบาล 
เราก็งง ๆ กับระบบเหมือนกัน แต่การที่โรงพยาบาลเป็นคนดำเนินเรื่องให้ก็สะดวกไปอีกแบบนึง

ต่อมาก็ให้เซ็นอีกฉบับ จะเป็นเอกสารยินยอมให้ตรวจ "ความผิดปกติแต่กำเนิดของกระบวนการสร้างและสลาย" ก็คือ พอเด็กคลอดออกมาแล้วจะทำการตรวจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ 
จะทำการตรวจโดยการเจาะเลือดของเด็กหลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้วในช่วงของวันที่ 4 - วันที่ 6 
โดยค่าใช้จ่ายทางเราจะเสียค่าเจาะเลือด สำหรับค่าตรวจทางรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะตรวจทั้งหมด 19 โรค   ผลของการตรวจจะทราบประมาณ 14 วันเป็นต้นไป โดยให้ติดต่อกับทางโรงพยาบาล 
ก็ขอให้ลูกของเราปกติดีทุกอย่างเถิดนะ เพี้ยง

แล้วก่อนกลับเจ้าหน้าที่ก็ให้เอกสารเกี่ยวกับกฏการเข้ามาเยี่ยมหลังคลอดมาให้อ่าน ก็คือโรงพยาบาลนี้เขาจะรักษาความปลอดภัย เรื่องเสียง แล้วก็มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด เพราะฉะนั้นเวลาจะมาเยี่ยมก็จะมีกฏของทางโรงพยาบาลด้วย คือว่าจะมีให้มาได้ประมาณกี่โมง มีให้แสดงบัตรเข้า - ออกโรงพยาบาล (ซึ่งอันนี้ต้องทำเรื่องก่อน) 
ก็ดีเหมือนกันเนอะ ^^






ตรวจครรภ์ครั้งที่ 13 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ 6 วัน)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 13 (อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ 6 วัน) ครั้งนี้คุณซูไปด้วย ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ พยาบาลก็บอกว่าคุณหมอที่ตรวจประจำอยู่ตอนนี้ติดผ่าตัดอยู่ (น่าจะติดผ่าคลอดอยู่อ่ะนะ) จะรอมั้ย ใช้เวลารอประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าไม่อยากรอก็สามารถตรวจกับคุณหมออีกคนนึงที่เป็นผู้ชาย คุณซูอยากให้ตรวจกับหมอคนเดิม แล้วเราก็ไม่ค่อยอยากตรวจกับคุณหมอผู้ชายเท่าไหร่ ก็เลยตัดสินใจรอ ระหว่างรอก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 112/73 (ครั้งที่แล้ว 126/71) จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 70.0 (ครั้งที่แล้ว  69.2)

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Mukumi purasu (ในสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ช่อง Mukumi ตรงเครื่องหมายที่เป็น + เลยมีทั้งปากกาสีดำกับสีแดงวง 2 วงเลย ก็น่าจะบวมอ่ะนะ เพราะเราดูแค่ตาเปล่าเท้าบวมเปล่งเลย เจ็บส้นเท้าด้วย 

จากนั้นก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขา แล้วก็บอกว่าเด็กตัวใหญ่ ไม่ได้ใหญ่เฉพาะส่วนนะ คือเป็นเด็กตัวใหญ่ อยากให้คลอดออกมาเร็ว ๆ 

แต่ว่าตอนนี้เด็กยังไม่กลับหัวเลย เพราะถ้าเด็กที่กลับหัวแล้ว ตำแหน่งของหัวใจจะอยู่ด้านล่าง แต่นี่ของเราตำแหน่งหัวใจของเจ้าหนูยังอยู่บน ๆ อยู่เลยอ่ะ จากนั้นคุณหมอก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น

น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,925 กรัม (ขึ้นมา 395 กรัมใน 1 สัปดาห์ ขึ้นเยอะมาก ><) 

แล้วคุณหมอก็ให้ไปห้องสำหรับตรวจภายใน เพื่อจะได้ดูว่าเด็กตัวใหญ่ประมาณไหน แล้วอยู่ในตำแหน่งไหนแล้ว ตอนตรวจคุณหมอก็ให้สูดลมหายใจเข้า เข้า เจ็บสุด ๆ  ผลดูแล้วปรากฏว่าคุณหมอยังไม่เห็นว่าเด็กเลื่อนลงมาข้างล่างเลยอ่ะ 

คุณหมอเลยแนะนำแบบสีหน้าเครียดและจริงจังมากว่าให้พยายามเคลื่อนไหว อย่างถูพื้น (ถูแบบสมัยก่อนไม่ใช้ไม้ถู) ถึงท้องจะตึง ๆ ก็ให้พยายามทำ 

คุณหมอก็บอกว่าน้ำหนักของเด็กพอถึงกำหนดน่าจะอยู่ที่ 3,600 กรัมแน่ ๆ หรือถ้าไม่ถึงก็น่าจะเกิน 3,100 กรัม ก็เลยบอกอีกว่าให้พยายามขยับ ๆ ตัว เคลื่อนไหว

เป็นอันเสร็จการตรวจในครั้งนี้

ค่าตรวจในวันนี้ 2,370 เยน

นัดครั้งต่อไปอีก 1 สัปดาห์

อ้อ...ก่อนที่จะจ่ายเงินเจ้าหน้าที่ก็เอาเอกสารมาให้เราเขียนแล้วก็เซ็นด้วย เป็นเอกสารอะไรขอเขียนบล็อกต่อไปน้า

อาการในช่วงนี้ :

- เจ้าหนูยังดิ้นแรงเหมือนเดิม

- ตอนเช้าของบางวัน ขาเป็นตะคริว คราวนี้เป็นทั้ง 2 ข้างเลย

- การเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยขึ้นจากตื่นขึ้นมา 1 ครั้ง เป็น 2 ครั้ง คุณซูบอกว่าอาจจะเป็นการเตรียมตัวเข้าโหมดตอนให้นมลูกที่ต้องตื่นขี้นมาบ่อย ๆ อืม...น่าจะจริงแหะ

- ปวดหลังมากขึ้น แล้วก็ปวดหน่วง ๆ บริเวณด้านล่าง

- ตกขาวยังมามากเหมือนเดิม




วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 12 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ 6 วัน)

หลังจากที่นอนโรงพยาบาล 1 คืน ตอนเช้าคุณหมอมาตรวจก็ไม่มีอะไรสามารถกลับบ้านได้คุณซูก็ลางานมารับ พร้อมกับเอาชุดมาให้เปลี่ยน (เตรียมพร้อมดีมาก ๆ เลย) แต่ว่าพรุ่งนี้มีนัดตรวจครั้งที่ 12 เราก็เลยถามคุณหมอว่าให้มาอีกทีวันพรุ่งนี้เปล่า คุณหมอก็เลยให้ตรวจไปเลยทีเดียวในวันนี้ ดีใจจังเพราะคุณซูจะได้เห็นเจ้าหนูผ่านหน้าจอหลังจากที่ไม่ได้เห็นมาหลายครั้ง

ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 126/71 เพิ่มจากครั้งที่แล้ว จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 69.2 (ครั้งที่แล้ว  69.0)

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Mukumi nashi  แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว แล้วก็บอกว่าเจ้าหนูหัวใหญ่นะเนี่ย อยากให้หนูคลอดออกมาเร็ว ๆ

จากนั้นดูส่วนที่เป็นกระดูกของขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น 

คุณหมอบอกว่าพยายามเดินออกกำลังกายให้มากขึ้น เพราะเจ้าหนูยังไม่กลับหัวเลย 

น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,530 กรัมกว่า ๆ พอตรวจซาวด์เสร็จ เราก็ถามคุณหมอเรื่องผล GBS ที่ตรวจไปเมื่อครั้งที่แล้ว คุณหมอบอกว่าเชื้อยังอยู่ ตอนคลอดจะให้ยาทางสายเลือด ซึ่งถ้าถึงเวลานั้น เดี๋ยวเรามาเขียนอีกทีว่าเป็นยังไง 

แล้วเราก็ถามคุณหมอว่า เด็กหัวใหญ่นี่ผิดปกติหรือเปล่า คุณหมอขำเล็กน้อย แล้วก็บอกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เนื่องจากว่าหัวของคนเราแต่ละคนมาจาก DNA ของพ่อกับแม่ (แล้วคุณหมอก็มองเรา แล้วก็มองคุณซู) เจ้าหนูน่าจะได้ทางพ่อมากกว่า ค่อยโล่งอกหน่อย 

ก็เป็นอันจบการตรวจในครั้งนี้

จากนั้นก็มีการเจาะเลือด ดูว่าเลือดจางหรือเปล่า เราได้ยินค่าตัวเลขอยู่ที่ 10.9 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์นิดเดียว พยาบาลเลยบอกให้เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็ก (ไม่ได้ให้ยามาอ่ะ ให้ทานจากอาหารเอา) 

แล้วพยาบาลก็พูดถึงการเตรียมของ เตรียมตัวในการคลอดแบบคร่าว ๆ ให้ฟัง ซึ่งเรื่องนี้จะมีอบรมในวันมะรืนอยู่แล้ว เลยขอเขียนทีเดียวในบทความถัดไปนะ

ค่าตรวจในครั้งนี้ + ค่านอนโรงพยาบาล 1 คืน 15,810 เยน

นัดครั้งต่อไปอีก 1 สัปดาห์

อาการในช่วงนี้ :

- เจ้าหนูยังคงดิ้นแรงเหมือนเดิม ยิ่งถ้าคุณซูสะกิดเล่นด้วย เจ้าหนูก็ตอบรับทันทีบ้าง เว้นช่วงเวลาบ้าง แต่ตอบรับบางครั้งก็ทำเอาเราจุกแบบเจ็บ ๆ ก็มีนะ

- ตกขาวยังคงมามากเหมือนเดิม

- สายตายังคงสั้นเหมือนเดิม 

- เท้าบวม มือบวมมีบ้างที่ชา ๆ หน้าตารู้สึกโทรม ๆ ฝ้าที่แก้มชัดเจนเลย (ขอให้ฝ้าหายหลังจากคลอดด้วยเถิด)

- ช่วงตื่นลุกขึ้นจากที่นอน เป็นอะไรที่ปวดบริเวณเชิงกราน ปวดหลังสุด ๆ ต้องค่อย ๆ เดินแบบพยุงท้องไปด้วย 

 

 

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นอนโรงพยาบาล 1 คืน เพราะมีเลือดออก


วันนี้ออกไปซื้อของข้างนอกมา อาจจะเดินเยอะไปหน่อย บวกกับเท้าก็บวมอยู่แล้ว ตอนอาบน้ำก็เลยกะว่าจะแช่เท้าสักพักนึงให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น
ระหว่างที่อาบน้ำก็นวดหน้าอกไปด้วย เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือว่าถ้าเข้าเดือนที่ 10 (นับตามแบบของญี่ปุ่น) ให้พยายามนวดเต้านม เพื่อให้น้ำนมไหล  ตอนแรกที่นวด ๆ ก็ไม่มีอะไร แต่พอเราลงโอฟุโระ แช่แค่เท้า ระหว่างที่แช่ก็นวดหน้าอกอีก พร้อมกับบริหารเท้าด้วยการยกส้นเท้าขึ้นลง ขึ้นลง ประมาณ 10 ครั้ง แล้วก็ขึ้นจากโอฟุโระ เท่านั้นแหล่ะ เลือดไหลเป็นทางเลย คล้าย ๆ กับตอนที่ประจำเดือนมา สีแดง ไหลไม่หลุดเลย เราตกใจมาก เรียกคุณซู พอคุณซูเห็นรีบโทรไปโรงพยาบาลแจ้งอาการทันที
ทางพยาบาลคงถามมาว่า มีอาการปวดท้องร่วมด้วยมั้ย ซึ่งตอนนั้นไม่มีอาการปวดท้อง ท้องไม่ตึง มีแต่เลือดไหลอย่างเดียว คุณซูก็เลยบอกว่า "ให้แต่งตัว ใส่ผ้าอนามัยด้วย เดี๋ยวเขาไปเอารถมาก่อน ไม่ต้องร้องไห้ทำใจสบายๆเพราะเดี๋ยวส่งผลถึงเด็กด้วยนะ (คือตอนนั้นเรานึกอยู่ในใจเลยว่าเป็นความผิดของเราเลย ที่นวดหน้าอก บริหารเท้า เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ กลัวลูกเป็นอะไรด้วย...)"
เราก็แต่งตัว เตรียมกางเกงในสำรอง ผ้าอนามัยสำหรับเปลี่ยน สมุดแม่และเด็ก บัตรต่าง ๆ รอคุณซูมารับ ซึ่งตอนนั้นก็ประมาณ 4 ทุ่มกว่า ๆ แล้ว ไปถึงโรงพยาบาลก็ประมาณ 4 ทุ่มครึ่งได้ โรงพยาบาลก็ปิดประตูใหญ่แล้ว เรากับคุณซูต้องกดกริ่ง เจ้าหน้าที่ถึงเปิดประตูให้

จากนั้นเราก็เข้าห้องที่มีเตียงสำหรับคลอด แล้วพยาบาลก็เอาเครื่องมาวัดการเต้นของหัวใจทารก แล้วก็ดูว่าท้องตึงหรือเปล่า เครื่องจะแสดงออกมาเป็นกราฟ  ระหว่างที่รอคุณหมอมา กราฟในส่วนของการเต้นของหัวใจทารกปกติ ทารกแข็งแรงดี ส่วนกราฟที่แสดงการตึงของท้อง มีช่วงแรกที่พุ่งสูง แต่หลังจากนั้นก็ลดลงเป็นปกติ รอคุณหมออยู่นานพอสมควร พอคุณหมอมา คุณหมอถามว่าเลือดออกจากตรงไหน ซึ่งเราก็บอกว่าเหมือนประจำเดือนมา คุณหมอก็งง เพราะเลือดไม่ไหลแล้ว ตรวจที่ช่องคลอดก็ไม่มีวี่แววว่าจะคลอด ใช้เครื่องตรวจดูภายในก็ปกติดี คุณหมอก็เลยบอกว่าไม่มีอะไร สามารถกลับบ้านได้ หรือว่าจะนอนดูอาการก่อนก็ได้

เราก็เลยปรึกษาคุณซู คุณซูให้นอนดูอาการก่อนดีกว่า ก็ตามนั้น แต่งงว่าแล้วเลือดนั้นมาจากที่ไหน???
แต่ระหว่างที่รอคุณหมอ เราก็บอกกับพยาบาลว่าตอนอาบน้ำ เรานวดเต้านม พยาบาลก็เลยบอกว่าไม่ควรที่จะนวดบริเวณนั้น เพราะจะทำให้มดลูกบีบตัว พอฟังปุ๊บ ใช่ที่เราคิดจริง ๆ ด้วย ต่อไปนี้ไม่ทำแล้ว
กลัวเป็นเหมือนวันนี้

พอตอนเช้าคุณหมอที่ตรวจเราอยู่ประจำ ก็มาตรวจอีกที ก็บอกว่าช่องคลอดก็ไม่ได้เปิด ปกติดี เลือดนั้นน่าจะมาจากก้น (แต่เราไม่ได้เป็นริดสีดวงนะ) เอาเป็นว่าปลอดภัย ก็โอเคแล้วหล่ะ

วันถัดไปจะมีนัดตรวจครั้งที่ 12 ก็เลยถามคุณหมอว่าให้มาอีกครั้งวันรุ่งขึ้นหรือเปล่า คุณหมอก็เลยให้ตรวจในวันนี้เลย

ค่ารักษาในวันนี้เลยไปคิดรวมกับตรวจครั้งที่ 12





วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Birth Plan ที่โรงพยาบาลให้มากรอก

ตอนที่ตรวจครรภ์ครั้งที่ 4 (อายุครรภ์ 16 สัปดาห์) ทางโรงพยาบาลก็จะให้เอกสารมา ในนั้นก็จะมี
- คู่มือแนะนำการคลอดที่โรงพยาบาล
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/blog-post_27.html

- เอกสารสำหรับคนค้ำประกัน (คนค้ำจะเป็นสามีไม่ได้ แต่ถ้าพ่อสามีได้ ก็เลยให้คุณพ่อคุณซูเป็นคนค้ำให้ แล้วก็ยื่นส่งภายในอายุครรภ์เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้วหล่ะ T T)

- Birth Plan

เนื้อหาใน Birth Plan จะถามเราว่า

จะเลือกวิธีการคลอดแบบไหน

1. ตั้งใจคลอดเองธรรมชาติ (ซึ่งกรณีนี้คุณแม่และลูกต้องไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด)
     #ถ้าจะคลอดเองแบบธรรมชาติโดยใช้ยาชาด้วยจะทำได้แค่ในช่วงเวลาทำงานของวันธรรมดาเท่านั้น

2. คลอดแบบกำหนดวัน (ให้เลือกระหว่าง 2.1 กับ 2.2)
   2.1 ต้องการคลอดเองแบบใช้ยา (ยกเว้นตอนกลางคืน และวันนักขัตฤกษ์) และต้องมีหนังสือยินยอม
[ปล. ยาที่ว่านี้เราว่าน่าจะหมายถึงยาเร่งคลอดกับยาชานะ]
   2.2 ไม่ต้องการคลอดเองแบบใช้ยาชา [เราก็คิดว่าไม่ใช้ยาชาแต่อาจจะใช้ยาเร่งคลอด]

3.  ให้สามีเข้าไปในห้องคลอดด้วย (ให้เลือกระหว่าง 3.1 กับ 3.2)
    3.1 ต้องการ (ตามกฏแล้ว จะสามารถให้สามีเข้าไปในห้องคลอดได้ในช่วงเวลาทำงานของวันธรรมดา และวันเสาร์ เท่านั้น)
    3.2 ไม่ต้องการ

หลังจากที่คลอดแล้ว
 โดยปกติห้องแม่กับห้องลูกจะแยกห้องกัน ในระหว่างวันสามารถบอกให้สต๊าฟพาลูกมาที่ห้องได้ และถ้าน้ำนมแม่ยังไม่มี ทางโรงพยาบาลจะให้สารอาหารผสมด้วย  ถ้าต้องการทราบวิธีทำสารอาหารที่ว่า สามารถระบุความต้องการได้

หลังจากที่คลอดแล้ว ต้องการห้องแบบไหน
1. ห้องส่วนต้วของแผนกสูติกรรม
2. ห้องส่วนตัวตึกใหม่ (5 วัน +เพิ่ม 5,000 เยน)
3. ห้องพิเศษตึกใหม่ (มีห้องอาบน้ำในตัว) (+เพิ่ม คืนละ 15,000 เยน)
          (หลังจากที่กรอกเสร็จแล้วและได้ยื่นเรียบร้อยแล้ว เฉพาะสามีสามารถพักได้คืนละ 10,000 เยน)

ให้ยื่น Birth Plan นี้ในช่วงอายุครรภ์ 28 - 36 สัปดาห์

----------------------------------------------------
เราก็ลองเอาใบนี้ปรึกษาคุณหมอว่าในกรณีของเราสามารถคลอดเองแบบธรรมชาติได้หรือเปล่า  คุณหมอก็บอกว่าส่วนใหญ่คนที่มาฝากครรภ์ที่นี่จะคลอดเอง ที่โรงพยาบาลนี้จะไม่เน้นการใช้ยา นอกเสียจากว่ามีกรณีพิเศษที่จำเป็นต้องใช้ ก็จะต้องให้สามีเซ็นรับรองก่อน
ที่นี่นี่เน้นธรรมชาติสุด ๆ
เราก็เลยเลือกข้อ 1 (คลอดเองแบบธรรมชาติ) , ข้อ 3.1 (ต้องการให้สามีเข้าไปด้วย ดังนั้นคุณซูก็ต้องอบรมคอร์สที่สามีเข้าไปในห้องคลอดด้วยว่าจะต้องทำยังไงบ้าง ก็ขอให้คลอดวันธรรมดาหรือวันเสาร์ในเวลาทำงานเถิดนะเพี้ยง เพราะถ้าไม่ใช่วันเวลาที่ว่าสามีก็เข้าไปไม่ได้ถึงเราจะระบุว่าต้องการก็เถอะ)
แล้วก็เลือกห้องแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (ขอประหยัดส่วนนี้ไปใช้ส่วนอื่นดีกว่า)





 



วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 11 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 11 (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะติดงาน ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 104/67 เพิ่มจากครั้งที่แล้วนิดหน่อย จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 69.0 (ครั้งที่แล้ว  68.5)

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Puramai แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขาให้ดูบริเวณที่เป็นส่วนกระดูกของต้นขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,500 กรัมกว่า ๆ  มีแว็บนึงที่ระหว่างดูหน้าจอ รู้สึกว่าเราจะเห็นหน้าของเจ้าหนู หน้าไปทางพ่อนะ ก็น่ารักดี (ลูกใครใครก็ต้องชมว่าน่ารักทุกคนอ่ะเนอะ ^^) 

เครื่องซาวด์ของที่นี่น่าจะไม่เหมือนของที่ไทย เพราะอย่างของน้องสะใภ้หรือคนที่รู้จักที่เขาโพสต์รูปที่ซาวด์ ก็จะเห็นโครงหน้าแล้วว่าคล้ายใครหรือหน้าตาเป็นยังไง แต่ของเราจะเห็นแค่ว่าเป็นส่วนหัวนะ ส่วนท้องนะ ตรงนี้ตา ตรงนี้อวัยวะภายใน ประมาณนี้อ่ะ คงต้องรอลุ้นวันคลอดว่าหน้าตาเจ้าหนูเป็นยังไง (ตื่นเต้น ๆ ^0^)

คุณหมอบอกว่าเด็กยังไม่กลับหัวลง ให้เราพยายามขยับตัว หรือเคลื่อนไหวให้เยอะขึ้น 

ก็เป็นอันเสร็จการตรวจซาวด์ในครั้งนี้ จากนั้นก็มาคุยกับคุณหมอ เราบอกอาการคุณหมอว่าตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา จะรู้สึกปวดบริเวณท้องด้านล่าง คุณหมอก็บอกว่าอาจจะเป็นเพราะท่านั่งของเราที่นั่งหลังไม่ตรง เลยทำให้ปวดบริเวณนั้นได้ 

แล้วคุณหมอก็บอกว่า แต่ว่าถ้ามีอาการเจ็บท้องเตือนในช่วงนี้ + กับอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ไปแล้ว + กับน้ำหนักของทารกในครรภ์ก็เกิน 2,500 กรัม การคลอดในช่วงนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร 

เราฟังแบบนี้รู้สึกตกใจ เพราะยังไม่ได้เตรียมอะไร ๆ ให้เรียบร้อยเลย กลับไปบ้านคงต้องรีบเตรียมซะแล้ว อย่างซักผ้าของลูกเอย  แต่ช่วงนี้ฝนตกทุกวันเลยรอวันแดดเปรี้ยง ๆ จะรีบจัดการเลย

ส่วนเรื่องน้ำหนักของเราขึ้นมาจากก่อนท้อง 13 โล คุณหมอให้รักษาให้อยู่ที่ตัวเลขนี้ตลอดจนกว่าจะคลอด เพราะถ้าเกินเยอะ ๆ จะทำให้คลอดยากขึ้น (ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า เพราะกินเก่งขึ้นซะด้วยสิ)

พอพูดคุยกับคุณหมอเสร็จก็ไปตรวจภายในดูว่าเจ้าเชื้อ GBS ที่ตรวจไปเมื่อครั้งที่ 9 หลังจากที่ทานยาไปเจ้าเชื้อนี้หมดไปหรือยัง ผลน่าจะรู้สัปดาห์หน้า  

นัดครั้งต่อไปก็อีก 1 สัปดาห์ (เริ่มนัดถี่ขึ้นแล้ว)

ค่าตรวจในครั้งนี้ 2,920 เยน

อาการในช่วงนี้ :

- ตกขาวมาเยอะขึ้น

- เป็นตระคริวครั้งนึงตอนตื่นนอนที่ขาขวา ไม่รู้ว่าเพราะวันนั้นอาการเย็นแล้วเราไม่ได้ใส่ถุงเท้านอนหรือเปล่า  ปวดสุด ๆ แล้วทั้งวันนั้นก็ยังคงรู้สึกว่าปวดนิด ๆ ตลอดทั้งวัน

- ค่าสายตารู้สึกว่าสั้นลง 

- ท้องเริ่มตึง ๆ ปวดหน่วง ๆ 

- ท้องเริ่มผูกทั้ง ๆ ที่กินผักทุกวัน

- ตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกทุกวันเลย  

- เจ้าหนูดิ้นแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังกินข้าว บางทีดิ้นจนทำเราจุกก็มี 555

 

อ้อ!!!แล้วในวันนี้เรายื่นกระดาษที่เคยได้รับจากโรงพยาบาลเกี่ยวกับเรื่อง Birth Plan ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย  

Birth Plan ที่ว่านี้คืออะไร คงต้องขอเขียนไว้ที่อีกบทความนึงซะแล้ว เพราะบทความนี้ก็ค่อนข้างยาวหล่ะ 


 

 

 

 



วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์)

 วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะติดงาน ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 101/62 ลดลงจากครั้งที่แล้ว จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 68.5 (ครั้งที่แล้ว  67.1) เจอคุณหมอพูดเลยว่าน้ำหนักขึ้นเยอะ หลังจากนี้ให้ควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2-3 กิโล แล้วคุณหมอก็พูดว่าท้องคงหนักน่าดู คงเห็นท้องเราใหญ่มั้งนะ เราก็สังเกตผู้หญิงญี่ปุ่นที่ท้องส่วนใหญ่ท้องจะเล็ก ๆ กันแหละ อย่างเวลาเราเดิน ๆ ข้างนอกก็มีคนมองมาเหมือนกัน ไม่รู้มองที่ว่าท้องเราใหญ่ หรือว่ามองเพราะอย่างอื่น แต่ก็ช่างเหอะเนอะ

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Puramai (ปกติจะพูดว่า Mukumi nashi = ขาไม่บวม) ก็แสดงว่าคงมีอาการบวม แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ดูหัวใจเต้น ฟังเสียงหัวใจเต้น น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,100 กรัม คุณหมอบอกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ แต่ให้คุณแม่คุมน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักเกิน 15 กิโลไปแล้วจะยิ่งทำให้คลอดยากขึ้น ก็เป็นอันเสร็จการตรวจซาวด์ในครั้งนี้

ก็มาพูดคุยกับคุณหมอ สิ่งที่เราถามคุณหมอในครั้งนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อ GBS ที่คุณหมอแจ้งผลเมื่อครั้งที่แล้ว คำถามที่เราถามก็คือหลังจากทานยาไปแล้วตรวจครั้งต่อไปไม่พบเชื้อ แต่ว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมที่ตอนคลอดเชื้อจะกลับมา ซึ่งคำตอบของคุณหมอก็คือถ้าทานยาแล้วเชื้อหายไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้ายาก็ช่วยไม่ได้ ยังมีเชื้ออยู่ ตอนคลอดก็จะทำการให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการเพิ่มภูมิให้กับทารก ซึ่งคุณหมอบอกว่าเท่าที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วหลังจากคลอดแล้วก็จะทำการตรวจเลือดโดยตรวจจากสะดือของทารก ก็คงเป็นขั้นตอนการตรวจของโรงพยาบาลอ่ะเนอะ ฟังแบบนี้แล้วค่อยสบายใจหน่อย ส่วนเรื่องที่ต้องระวังตอนนี้ก็คือเรื่องน้ำหนัก (อีกแล้ว) เพียงเรื่องเดียว 

ก็เป็นอันเสร็จการตรวจในครั้งนี้ นัดครั้งต่อไปอีก  2 อาทิตย์

ในตอนที่จ่ายเงินค่าตรวจ เราก็จองคอร์สอบรมสำหรับของทั้งพ่อและแม่ (3 ครั้งแรกจะแค่แม่อย่างเดียว) เนื่อหาของคอร์สสำหรับพ่อและแม่ก็จะเกี่ยวกับการที่คุณพ่อเข้าไปในห้องคลอดด้วย และก็จะให้เดินดู ๆ ห้องคนไข้ ซึ่งวันที่อบรมคุณพ่อก็ต้องมาด้วยกัน 

ค่าตรวจในวันนี้ 1,870 เยน 

พอกลับมาที่บ้านก็มาดูสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ครั้งนี้อีกแล้วที่ช่อง 浮腫 (อาการบวม) ผลจากการตรวจปัสสาวะ พยาบาลวงที่เครื่องหมาย - และ + ปกติจะแค่เครื่องหมาย - สงสัยครั้งนี้คงบวมนิดหน่อยมั้งนะ เพราะก่อนหน้านี้ ตื่นมาตอนเช้าเหมือนจะเป็นตะคริวที่ขา พอเริ่มรู้สึกเจ็บ ๆ เราก็พยายามยกขาสูงขึ้นนิดนึง อาการก็หายไป 

ส่วนอาการอื่น ๆ โดยรวมในช่วงนี้ :

- เริ่มเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น กลางคืนก็ตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 จะคล้าย ๆ ตอนตั้งท้องใหม่ ๆ เข้าห้องน้ำถี่เชียว

- การดิ้นของเจ้าหนูจะถี่ขึ้น โดยเฉพาะตอนเย็น - กลางคืน มีปูด ๆ ขึ้นมาบางทีก็ด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้าง แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปมือ หรือเท้า 

- ง่วงนอนมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้นมีปวดจิ๊ด ๆ เหมือนหายใจไม่ทันตอนที่เราออกกำลังกาย อย่างขึ้นลงบันได ก็เหนื่อยแล้ว 

 

 

 




 

 

 

 

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 9 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 31 สัปดาห์)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 9 (อายุครรภ์ 31 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูไม่ได้ไปด้วย เพราะติดงาน จริงๆ มีนัดตอนบ่าย ถ้าเป็นบ่ายคุณซูก็มาด้วยได้ แต่เมื่อวานทางโรงพยาบาลโทรมาเลื่อนขอเป็นช่วงเช้า ครั้งนี้ก็เลยต้องไปคนเดียว
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  บัตรประกันสุขภาพ  จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ

ความดันที่วัดได้ รู้สึกว่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ครั้งนี้อยู่ที่ 122/57 แต่คงไม่สูงมาก เพราะคุณหมอไม่ได้พูดอะไร หลังจากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ รอคุณหมอนานมาก เกือบชั่วโมงได้มั้ง เพราะคุณหมอมีผ่าตัด พอเรียกเข้าห้องก็มีการชั่งน้ำหนักก่อน  ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 67.1 กิโล (ครั้งที่แล้ว 66.5) ขึ้นมา 0.6 กิโล พอคุณหมอมาตรวจ ก็ซาวด์ ระหว่างที่ซาวด์คุณหมอก็ไม่ค่อยได้พูดอะไรมาก จะมีดูส่วนหัว วัดความยาวส่วนหัว ดูส่วนขา แล้วก็คงดูส่วนอื่น ๆ ด้วยอ่ะนะ เพราะเราก็ดูไม่ค่อยเป็น จากนั้นก็ฟังเสียงหัวใจเต้น คุณหมอบอกว่าปกติดี ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการซาวด์ในครั้งนี้ 

จากนั้นก็มาฟังผลจากการที่ตรวจภายในครั้งที่แล้ว เราแอบเห็นค่าแบคทีเรียในตกขาวเป็น + อ่ะ แล้วที่โต๊ะก็มีกระดาษขนาดครึ่ง A4 วางอยู่ คุณหมอก็ถามว่าอ่านญี่ปุ่นได้มั้ย เราก็บอกว่าได้นิดหน่อย คุณหมอก็เลยบอกว่าอย่างนั้นให้คุณซูช่วยอ่านด้วย แล้วก็อธิบายให้เราฟังคร่าว ๆ ว่า ผลการตรวจก็คือในช่องคลอดเรามีแบคทีเรียอยู่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป โดยปกติก็จะมีอยู่ในร่างกายคนปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ท้อง ไม่ได้อะไรก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน แต่สำหรับคนท้องแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันทารก คุณหมอก็เลยจะจัดยาให้มาทานสำหรับ 1 อาทิตย์ แล้วในการตรวจของครรภ์ที่อายุ 35 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจภายในแบบนี้อีกครั้ง ถ้าแบคทีเรียนี้ไม่หมดไป ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่จะเบ่งคลอด คุณหมอก็จะให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไปที่ทารก

กระดาษที่คุณหมอให้มาจะเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นหัวข้อคือ 「GBS感染症について」

GBS = Group B Streptococcus 

จากนั้นคุณหมอก็ถามว่ามีอะไรจะถามมั้ย เราก็เลยถามว่า จะเป็นอันตรายมั้ย คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นอันตราย เพราะมันก็คือแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป แล้วก็เลยถามต่อว่าแล้วช่วงนี้ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า คุณหมอก็เลยตอบว่า "น้ำหนัก" 

แล้วคุณหมอก็ดูน้ำหนักครั้งที่แล้ว กับครั้งนี้ แล้วก็บอกว่าถ้ารักษาได้ระดับแบบนี้ก็โอเค

ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการตรวจในครั้งนี้ 

นัดครั้งต่อไปอีก 2 สัปดาห์

ในครั้งนี้มียาด้วย หน้าตาเป็นแบบนี้ ทานหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น มื้อละเม็ด

ค่าตรวจในวันนี้ 2,400 เยน 

หลังตรวจเสร็จรู้สึกจิตตกเล็กน้อย กังวลเกี่ยวกับแบคทีเรียที่ว่านี้ ก็เลยให้คุณซูช่วยหาข้อมูลของที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะเราลองหาข้อมูลของไทย มีบางคนโพสต์ไว้ รู้สึกน่ากลัวจัง แต่คุณซูบอกว่าไม่ต้องไปเครียดกับมัน เพราะมันก็คือแบคทีเรียธรรมดา ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายคนอยู่แล้ว   จากนั้นเราก็ให้คุณซูฟังที่เราอัดเสียงคุยกับคุณหมอในครั้งนี้ คุณซูก็บอกอีกว่าข้อมูลที่หาจากทางเว็บกับที่คุณหมอบอกมาเหมือนกัน ไม่ต้องเครียด ๆ เอาอย่างนี้มั้ย ให้เราเป็นเพื่อนกับแบคทีเรียตัวนี้ให้มากขึ้น คือทำความสะอาดห้องน้ำให้น้อยลง เล่นกับหมากับแมว (ปกติเราไม่ค่อยชอบอยู่ใกล้หมากับแมวเท่าไหร่) ดูคุณซูพูดเข้าสิ ฮาดี  ก็รู้สึกดีขึ้นนะ เพราะถ้าเครียดไปก็ส่งผลไม่ดีกับทารกเปล่า ๆ 

อาการในช่วงนี้ :

- หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า ขาเคยเป็นตะคริว 2 ครั้ง แต่ช่วงนี้ไม่เป็นหละ

- เจ้าหนูน้อยในท้องนี่ดิ้นแรงขึ้น แล้วก็บ่อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงเย็น ๆ บางครั้งรู้สึกเหมือนกับอวัยวะอาจจะเป็นส่วนแขนหรือขา ถูกับภายในท้องเราด้วย 

 

 


 





 

 

 


วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 8 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 29 สัปดาห์)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 8 (อายุครรภ์ 29 สัปดาห์)
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  ยื่นบัตรประกันสุขภาพ  จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ
ในครั้งนี้มีการเจาะเลือดด้วย เก็บไป 1 หลอด เพื่อเป็นการตรวจว่าโลหิตจางหรือไม่
หลังจากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ มีการชั่งน้ำหนักก่อน  ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 66.5 กิโล (ครั้งที่แล้ว 65.1) ขึ้นมา 1.4 กิโล โดนคุณหมอสั่งให้ควบคุมอาหาร น้ำหนักอย่างจริงจังหล่ะ เพราะถ้าเป็นแบบนี้คุณหมอบอกว่าคงเกิน 15 กิโลแน่ ๆ
จากนั้นก็ซาวด์ที่ท้อง คุณหมอให้ดูที่ส่วนของหัว มีการคลิกลากจากด้านนึงไปด้านนึง ซึ่งคุณหมอก็บอกว่าขนาดของหัวปกติดี
จากนั้นก็มาคลิกที่ส่วนขาดูความยาวของขา คุณหมอก็บอกว่าเด็กอาจจะตัวใหญ่กว่าไซส์มาตรฐาน น้ำหนักจากที่เห็นที่จออยู่ที่ 1,368 กรัม
แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น คุณหมอบอกว่าแข็งแรงดี ^0^
จากนั้นก็ให้ดูส่วนที่เป็นตา ปกติดี ซึ่งตอนนี้เด็กนอนหงายอยู่ คุณหมอก็ทักว่าชั้นไขมันของคุณแม่หนา อาจจะทำให้ดูได้ไม่ละเอียดเท่าไหร่ (เราเห็นก็ว่าหนาจริง ๆ อ่ะ)
พอซาวด์เสร็จ คุณหมอก็บอกผลการตรวจเลือด ความเข้มข้นของเลือดอยู่พอดีกับตัวเลขที่เซฟเลย คือ 11 เราก็เลยถามว่าถ้าทานวิตามินที่ช่วยเรื่องโลหิตจางของ Kobayashi (กล่องสีแดง) ทานร่วมกับวิตามินของ Pigeon (ตามรูปด้านล่าง) ได้หรือเปล่า คุณหมอบอกว่าทานของ Pigeon อย่างเดียวก็พอแล้ว แล้วทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก (จริง ๆ คุณหมอคงอยากให้ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากกว่าการทานพวกวิตามิน แต่เราดักถามไปก่อน)



จากนั้นคุณหมอก็ถามว่ามีอะไรที่อยากจะถามมั้ย เราก็เลยบอกคุณหมอว่า ปวดช่วงเอวด้านหลังทางด้านขวา เท่านั้นแหล่ะ คุณหมอทำหน้ายิ้มเจือน ๆ แล้วก็บอกว่าเพราะน้ำหนักเราเยอะ เลยเป็นสาเหตุนึง ให้คุมเรื่องอาหาร แล้วก็น้ำหนัก คุณซูก็บอกว่าทุกวันนี้เราก็เดินเยอะขึ้น คุณหมอก็บอกว่า การเดินสำหรับคนท้องอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ อย่างดีก็ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงก็เหนื่อยไม่ไหวแล้ว เราคงต้องคุมอาหารอย่างจริงจัง ><

พอตรวจตรงนี้เสร็จ คุณหมอก็บอกว่ามีตรวจต่อ ให้ไปที่ห้องสำหรับตรวจภายใน เราก็ขึ้นที่นั่งที่เป็นเครื่องสำหรับตรวจภายใน ครั้งนี้จะเป็นการตรวจหนองในเทียม และก็การตรวจแบคทีเรียในตกขาว
การตรวจหนองในเทียม คุณหมอให้ดูมอนิเตอร์ด้วย แล้วก็ไม่ได้พูดอะไร เป็นอันจบการตรวจในวันนี้
นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 2 อาทิตย์
ค่าตรวจในวันนี้ 4,770 เยน

อ้อ วันนี้นางพยาบาลถามเราด้วยว่า ตอนคลอดจะให้สามีเข้าไปด้วยมั้ย เราก็บอกต้องการให้เข้าค่ะ
แต่เงื่อนไขก็คือถ้าคลอดหลัง 2 ทุ่มไปแล้ว สามีจะเข้าไปด้วยไม่ได้ เพราะเป็นกฏของที่นี่
ก็ขอให้หนูคลอดในตอนกลางวันแล้วก็วันที่ป่ะป๊าหนูหยุดพอดีด้วยน้า ^^

พอกลับมาบ้านมาดูสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ครั้งนี้ที่ช่อง 浮腫 (อาการบวม) จากการตรวจปัสสาวะ พยาบาลวงที่เครื่องหมาย - แล้วก็วงที่เครื่องหมาย + ซึ่งปกติที่ผ่านมาจะวงแค่ที่เครื่องหมาย -
เราก็เลยลองหาข้อมูลดู ถ้าเครื่องหมาย - อย่างเดียว ถือว่าปกติ
แต่ถ้าวง - + จะผิดปกติในเรื่องของการบวมเล็กน้อย คุณหมอไม่ได้ทักอะไร เพราะคุณหมอก็มีจับที่ขา แล้วก็บอกว่าไม่บวม ก็คงไม่มีปัญหามั้ง แต่ก็ต้องระวังเค็มไว้ก่อนอ่ะเนอะ










วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 7 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 26 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 7 (อายุครรภ์ 26 สัปดาห์กว่า ๆ)
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  ยื่นบัตรประกันสุขภาพ(ทางโรงพยาบาลใช้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ยื่นไว้ก่อน)
แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ยังไม่ทันที่จะไปวัดความดันเลย พยาบาลก็เรียกเข้าห้องตรวจแล้ว ครั้งนี้เร็วมาก ๆ
ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 65.1 กิโล (ครั้งที่แล้ว 64.5) ครั้งนี้ไม่โดนดุเรื่องน้ำหนัก เพียงแต่คุณหมอบอกให้คุมให้ได้แบบนี้ตลอด
จากที่ยังไม่ได้วัดความดัน พยาบาลเลยมาวัดเองเลย ปกติไม่มีปัญหาอะไร
แล้วคุณหมอก็แจ้งผลตรวจเลือดที่เก็บไปครั้งที่แล้วว่าไม่มีปัญหาอะไร (เช็คว่ามีเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ เพราะสามารถติดได้ทางการให้นมแม่
นำไป เช็คว่าเลือดจางหรือไม่  และเช็คค่าน้ำตาลในเลือด)
แล้วก็อัลตราซาวด์ ที่คุณหมอดู ๆ จะมีดูขนาดของหัว ส่วนท้อง แขน ขา ปกติ ไม่มีปัญหาอะไร แต่คุณหมอจะทักว่าเด็กตัวใหญ่ไปหน่อย คงเพราะแม่สูงด้วยมั้ง แล้วก็บอกว่าให้แม่อย่าอ้วนเกินไป จากนั้นก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น ปกติดี


จากนั้นก็มาคุยกับคุณหมอเรื่องว่าจะเลือกคลอดแบบไหน เพราะทางโรงพยาบาลมีแพลนมาให้เลือก แล้วก็ให้ส่งให้กับทางโรงพยาบาลตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 28 -36
ในแพลนก็จะมี
1. คลอดแบบธรรมชาติมาก ๆ คือจะไม่ใช้ยาใด ๆ เลย
2. คลอดแบบธรรมชาติที่สามารถเลือกวันคลอดเองได้ แต่จะมีการใช้ยา ฉีดยาชา อะไรประมาณนี้
3. คลอดโดยที่ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย แต่ว่าถ้าเป็นช่วงตอนกลางคืน สามีจะเข้าไปด้วยไม่ได้
ซึ่งเราก็คิดไว้แล้วหล่ะว่าจะเลือกแพลนข้อที่ 1 และ 3
แต่เราก็กลัวเจ็บท้องนาน ก็เลยปรึกษาคุณหมอ คุณหมอก็บอกโรงพยาบาลนี้ส่วนใหญ่จะคลอดแบบข้อที่ 1 แต่ถ้าดู ๆ แล้วแต่กรณีว่าเจ็บท้องนานเกินไปก็ขึ้นอยู่กับคุณหมออาจจะเปลี่ยนเป็นแบบข้อที่ 2 คือใช้ยาช่วยได้ แต่ต้องให้สามีเซ็นชื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงด้วย
คุณหมอก็บอกว่ายังไม่ต้องรีบส่งใบนี้ก็ได้ รอให้ 36 สัปดาห์ก็ได้ แต่พอ 36 สัปดาห์ไปแล้วควรที่จะออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น


แล้วก็มาถามคุณหมอเรื่องสายตาที่มองไม่ค่อยชัดมากขึ้นเวลาอ่านหนังสือ คุณหมอก็บอกว่าถ้าเรามองได้แค่ระยะตรงอย่างเดียว โดยที่การมองเห็นด้านข้างซ้ายขวามีปัญหาแล้วหล่ะก็ไม่ดี  แต่ถ้ามองไม่ค่อยชัดมากขึ้นเวลาอ่านหนังสือคงไม่มีปัญหาอะไร


แล้วก็ถามคุณหมอเรื่องปวดสะโพก ท่าทางคนญี่ปุ่นคงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่มั้ง เพราะพอบอกคุณหมอไป คุณหมอก็งงๆ เหมือนไม่ค่อยเคยเจอแล้วก็เลยบอกมาว่า สรีระระหว่างคนไทยกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน อย่างเราตัวสูง กระดูกเชิงกรานก็จะใหญ่ เพราะฉะนั้นก็เลยขยาย ก็เลยทำให้ต้องรับน้ำหนักของท้องมากขึ้นก็เลยทำให้ปวด


ก็เป็นอันจบการตรวจเพียงแค่นี้ นัดครั้งต่อไปอีก 2 สัปดาห์
ค่าตรวจครั้งนี้ 2,020 เยน










วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 6 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 24 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 6 (อายุครรภ์ 24 สัปดาห์กว่า ๆ)
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  ไม่ได้ยื่นบัตรประกันสุขภาพเพราะยังไม่ใช่เดือนใหม่ของการมาตรวจ
แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ วัดความดัน จากนั้นพยาบาลก็เรียกเข้าห้องสำหรับเจาะเลือด ครั้งนี้เก็บไป 3 หลอด ซึ่งจะนำไปเช็คว่ามีเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ เพราะสามารถติดได้ทางการให้นมแม่
นำไปเช็คว่าเลือดจางหรือไม่  และเช็คค่าน้ำตาลในเลือด

หลังจากนั้นก็ชั่งน้ำหนัก แล้วก็รอพบคุณหมอ คุณหมอมาเห็นน้ำหนัก ทำหน้าเครียดเลย เพราะน้ำหนักเราขึ้นจากก่อนท้องมา 8.5 กิโล ซึ่งเกณฑ์ของคุณหมอคือ 8-12 กิโล เพราะหลังจากนี้น้ำหนักก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น คุณหมอเลยให้ควมคุมน้ำหนัก ลดปริมาณอาหารลง
หลังจากนั้นก็อัลตราซาวด์ดู เด็กตัวใหญ่ขึ้นมากเลย อาจจะเป็นเพราะน้ำหนักแม่ขึ้นเยอะด้วย เลยทำให้เด็กตัวใหญ่ ครั้งนี้คุณหมอจะให้ดูส่วนหัว เน้นให้ดูจมูก ปาก แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น ทั้งหมดปกติ แข็งแรงดี แล้วคุณหมอก็บอกผลการตรวจเลือดไม่มีปัญหาเลือดจาง แอบเห็นตัวเลขอยู่ที่ 11 กว่า ๆ ส่วนผลของตัวอื่นยังไม่ออก   แล้วก็แอบเห็นคุณหมอเขียน 800 กว่า ๆ น่าจะเป็นน้ำหนักของทารก
แล้วคุณหมอก็ถามว่ามีอะไรจะถามไหม เราก็บอกไปว่าช่วงนี้จะปวดหน่วง ๆบริเวณช่วงล่าง บริเวณก้น ทางด้านซ้าย คุณหมอก็เลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องของท้องผูก ให้ดูอาการ
แล้วก็นัดครั้งต่อไปอีก 2 อาทิตย์  คุณหมอพูดมาเลยว่าครั้งที่มาตรวจคราวหน้าไม่ควรขึ้นเกิน 1 กิโล เฮ้อ

ก่อนกลับคุณหมอให้ไปฟังพยาบาลพูดเรื่องของอาหาร แล้วก็รับคู่มือแนะนำเรื่องอาหารในตอนที่ตั้งครรภ์ และแฮนบุ๊คสำหรับการไปทานข้าวนอกบ้าน พยาบาลเขียนมาเลยว่า BMI ของเรา 21.0 น้ำหนักมาตรฐานจะอยู่ที่ 58.4 กิโล เพราะฉะนั้นปริมาณพลังงานที่จำเป็นต่อวันจะอยู่ที่ 1,700 Kcal
เราต้องควบคุมอาหารให้อยู่ในเกณฑ์นี้เหรอเนี่ย ><
ในคู่มือก็จะบอกมาว่าใน 1 วันควรจะทานอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่
บอกวิถีการทานอาหาร คือ
1. ทานอาหารครบ 3 มื้อ
2. เคี้ยวช้า ๆ ละเอียด ๆ
3. ก่อนนอน 2 ชั่วโมงไม่ให้ทานอะไร
4. ให้ออกกำลังกาย
5. อาหารที่ใช้น้ำมันเยอะ ให้ทานพอดี ๆ
6. ให้ระวังในการทานขนมขบเคี้ยว ของว่าง
7. ให้หันมาทานอาหารจำพวกที่ไม่มีแคลอรี่ อย่างเห็ด บุก สาหร่าย
8. ไม่ทานอาหารรสจัด
9. ไม่ใช้พวกน้ำปรุงรส ซอสในปริมาณที่เยอะ

ส่วน แฮนบุ๊คสำหรับการไปทานข้าวนอกบ้าน ก็จะเขียนประมาณว่า เมนูอาหารนี้ให้พลังงานกี่กิโลแคลอรี่ คงประมาณว่าให้เลือกทานที่ให้พลังงานไม่สูงมาก

ต้องควบคุมอาหาร น้ำหนักแล้วสิเรา

ค่าตรวจในวันนี้ 3,720 เยน







วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

คู่มือแนะนำในเรื่องการคลอดที่โรงพยาบาล (แล้วแต่ที่นะ) (入院案内)

พออายุครรภ์ครบ 7 เดือน (นับแบบญี่ปุ่น) ถ้านับไทยก็ 6 เดือน ก็จะเป็นช่วงที่ต้องเตรียมของตอนที่เราอยู่โรงพยาบาล  ของใช้สำหรับเด็ก และของตอนที่ออกจากโรงพยาบาล
ก่อนอื่นเราก็เอาเอกสาร (คู่มือแนะนำในเรื่องการคลอดที่โรงพยาบาล (入院案内)) ที่ได้รับจากโรงพยาบาลเมื่อตอนไปตรวจครรภ์ครั้งที่ 4 มาดูอีกครั้งนึง เพราะจะมีของบางอย่างที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว เราจะได้ไม่ต้องเตรียมเยอะ
เนื้อหาในเอกสารจะมีเรื่อง
-การตรวจครรภ์
โดยปกติแล้วตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ จะตรวจ 4 สัปดาห์ต่อครั้ง
แล้วพออายุครรภ์ 24 สัปดาห์ จนถึง 35 สัปดาห์ จะตรวจ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง
แล้วพออายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป จะตรวจ 1 สัปดาห์ต่อครั้ง
แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ อย่างเลือดออก น้ำคร่ำเดิน ท้องแข็งเป็นเวลานาน ก็ต้องรีบไปหาหมอ


-สัญญาณแสดงว่าใกล้คลอด
น้ำคร่ำเดิน, เลือดออก, ถ้าเป็นท้องแรกจะมีอาการปวดท้องคลอด 10 นาทีต่อครั้ง ถ้าไม่ใช่ท้องแรกจะมีอาการปวดท้องคลอด ตั้งแต่ 10 นาที - 15 นาทีต่อครั้ง
※แต่ถ้ามีอาการที่ผิดปกตินอกเหนือจากนี้ แล้วไม่ใช่ช่วงเวลาที่ตรวจของทางโรงพยาบาล ก็จะต้องโทรศัพท์ไปก่อน


-ของที่ต้องเตรียมไปตอนที่เข้าโรงพยาบาล (แล้วแต่โรงพยาบาล)
สิ่งที่เราต้องเตรียมไปเอง : สมุดสุขภาพแม่และเด็ก, บัตรประกันสุขภาพ, บัตรคนไข้, อิงคัง (ตราประทับชื่อหรือนามสกุลของเรา), เข็มขัดคาดเอวหลังคลอด 



ของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ (แล้วแต่โรงพยาบาล)
ชุดนอน (お寝巻)、ผ้าขนหนู (バスタオル)、ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้า (フェイスタオル)ซึ่งจะเปลี่ยนให้ทุกวัน,
เสื้อคลุมยาว (ガウン)、กางเกงใน (ショーツ) 2 ตัว、เสื้อใน (ブラジャー)2 ตัว、แผ่นซับน้ำนม (マニーパット)、ผ้าอนามัย (ナプキン(LSM))、ตะเกียบ (お箸)、ของใช้อย่างแปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, ที่แปรงผม, ถ้วยน้ำ, ทิชชู) (洗面用具:ハブラシ、歯磨き粉、ヘヤーブラシ、コップ、ティッシュ)、สลิปเปอร์ (スリッパ)、
เซ็ทของที่จำเป็นในการคลอด (お産セット)、สำลีทำความสะอาด (清浄綿、消毒綿)
※ในตอนที่ออกจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะมีเตรียมเบบี้แวร์ (ベビーウェアー)、ผ้าห่อตัวเด็ก (おくるみ)、ของขวัญในการคลอดลูกไว้ให้
※ที่ห้องอาบน้ำ จะมีพวกยาสระผม สบู่อาบน้ำ โลชั่นเตรียมไว้ให้


-ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล
ประมาณ 5 วัน วันที่คลอดถือเป็น 1 วัน
ในกรณีที่ผ่าคลอดจำนวนวันที่อยู่จะแตกต่างออกไป


ของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ อาจจะดูเหมือนครบแล้ว แต่เราก็คิดว่าคงเตรียมของตัวเองไปด้วยเป็นการเผื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกถ้าบังเอิญขาดขึ้นมา


แล้วก็ต้องดู ๆ ตามนิตยสารแม่ลูกว่าส่วนใหญ่เขาเตรียมอะไรสำหรับทารกบ้าง แล้วก็คงต้องทำเป็นรายการออกมา เพราะเคยไปเดิน ๆ ดู เลือกไม่ถูกว่าต้องใช้อะไรบ้าง ภาษาญี่ปุ่นเรียกแบบนี้หน้าตาเป็นยังไง เพราะอยากซื้อแค่ที่จำเป็นจริงๆ เพราะเดี๋ยวพอเปลี่ยนฤดูก็ต้องหาซื้ออีก
+กับเดี๋ยวเดือน เม.ย. นี้ภาษีผู้บริโภคขึ้นอีก 3 % เป็น 8% ของบางอย่างที่ใหญ่ ๆ หรือซื้อมาก่อนได้ ก็คงต้องรีบซื้อ  แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะเอาที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ดีกว่า...เนอะ

























วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

ได้เข้าร้านซูชิแล้ว (หลังจากที่ไม่ได้เข้านานมาก ๆ)

ตั้งแต่ท้องก็ไม่ได้แวะไปทานซูชิหมุนเลย เพราะว่าเป็นปลาดิบอ่ะเนอะ ก็เลยเลี่ยงดีกว่า
ซึ่งจริงๆ แล้วทางเจ้าหน้าที่ที่อบรมคอร์สคุณแม่ก็บอกว่าทานได้ แต่ไม่ควรทานที่ปริมาณเยอะ ๆ 
ซึ่งอย่างนั้นก็เถอะ เราก็ขอเลี่ยงดีกว่า
จนวันนี้อดใจไม่ไหว ชวนคุณซูไปทานแต่ก็ต้องอดใจเลือกเฉพาะอย่าง อย่างวันนี้เราเลือกทาน
1. แซลมอนย่างขอบ (焼きはらす)  2 จาน
2. ปู (かににぎり)           1 จาน
3. กุ้งอะโวคะโด้  (えびアボカド)       1 จาน
4. ปลาไหล  (あなご)                     1 จาน
5. นัตโตะ   (納豆)                         1 จาน
6. ปลาอะจิ   (あじ)                        1 จาน
7. อุด้ง   (うどん)                           1 ชาม

จริง ๆ เราจะชอบ มะงุโระ มาก ๆ แต่เพราะเป็นปลาตัวใหญ่ (ปลาตัวใหญ่จะมีพวกสารปรอทเยอะกว่า) ก็เลยต้องอดใจไว้ก่อน 

แล้ววันที่  28 มี.ค. เอาอีกแล้ว เข้าร้านอีกรอบ (><) คราวนี้ก็ทาน

1. แซลมอนย่างขอบ (焼きはらす)  1 จาน
2. ปู (かににぎり)           1 จาน
3. กุ้งอะโวคะโด้  (えびアボカド)       1 จาน
4. ปลาไหล  (あなご)                     1 จาน
5. นัตโตะมาคิ   (納豆巻)                0.5 จาน เพราะแบ่งกับคุณซู
6. ปลาอิวะชิ (真いわし)                  1 จาน
7. อิกะเทมปุระ (いか天手巻寿司)   1 จาน

เราถ่ายเมนูมาดูประกอบด้วย จะได้รู้ว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวครั้งต่อไป จะทานที่เมนูที่ยังไม่เคยลองมาก่อน  จะได้ลดความอยากลงได้บ้าง อิอิ
หลังจากทานเสร็จ เจ้าหนูนี่ดิ้นตอบรับเลยสงสัยคงชอบ^-^






วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 5 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้มีนัดตรวจครรภ์ (อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ กว่า ๆ )
พอไปถึงเคาน์เตอร์ ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก แล้วก็สมุดช่วยค่าตรวจ  จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะขอบัตรประกันสุขภาพ เพราะว่าเป็นการมาตรวจในเดือนใหม่
ขั้นตอนจากนั้นก็เหมือนเดิมคือ ไปเก็บปัสสาวะ แล้วก็วัดความดัน (ลืมบอกไปว่าที่ญี่ปุ่นจะให้เราความความดันเอง จะมีเครื่องวางอยู่แถว ๆ นั้น วัดเสร็จก็เอากระดาษที่ปริ้นท์ออกมายื่นให้พนักงาน)
จากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ ระหว่างที่รอคุณหมอ (คุณหมอมีธุระที่ชั้น 2) นอนรอไปรอมา เริ่มปวดหลัง จริงๆ พยาบาลก็บอกให้นอนท่าสบาย ๆ แต่เราขี้เกียจพลิกไปพลิกมาเอง แหะ ๆ
พอคุณหมอมาถึงก็อัลตราซาวด์ดู ดูหลายมุม หลายด้านที่คุณหมอให้ดู  เจ้าหนูโตกว่าครั้งที่แล้วเยอะเชียว คุณหมอก็พูดว่า ครั้งต่อไปภาพถ่ายที่จะให้คงเห็นไม่เต็มตัวแล้ว เพราะเด็กจะโตขึ้นมาก
แล้วคุณหมอก็ให้ฟังเสียงหัวใจ เต้นแข็งแรงดี น้ำหนักของเจ้าหนูตอนนี้ก็ 398 กรัม คุณหมอไม่ได้พูดว่าตัวเล็กไปหรือใหญ่ไป แต่คุณหมอเตือนเราเรื่องน้ำหนักของแม่ เพราะจากครั้งที่แล้วที่มาตรวจ ผ่านไป 1 เดือน ขึ้นมาถึง 2.5 กิโล โดนคุณหมอให้ควบคุมน้ำหนัก (น้ำหนักก่อนท้องจนถึงตอนนี้ขึ้นมา 6.5 กิโล)
พอซาวด์เสร็จ เราก็มาปรึกษาคุณหมอเรื่องการตรวจฟันช่วงนี้ เพราะเริ่ม ๆ ปวดหน่อย ๆ เคยอ่านเจอว่าถ้าจะตรวจฟันให้ทำได้ประมาณช่วงอายุครรภ์ช่วงนี้ แต่คุณหมอที่นี่กลับไม่แนะนำให้ไปตรวจอ่ะ (ถ้าเป็นไปได้) เพราะเคยมีเคสที่ว่ามีคนไปตรวจที่คลินิคที่หนึ่งหลังจากนั้นก็ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าจะไปตรวจกับคลีนิคที่ผู้หญิงคนนั้นไปตรวจด้วยแล้ว คุณหมอยิ่งไม่แนะนำเลย
สรุปเราก็เลยไม่ไปตรวจฟันแหละ รักษาความสะอาดของฟันให้บ่อยขึ้นแทน
ก็เป็นอันเสร็จการตรวจครรภ์วันนี้ ค่าตรวจ 1,820 เยน
แล้วนัดครั้งต่อไปก็อีก 4 สัปดาห์


อ้อเราลืมบอกไปว่าตอนที่ไปตรวจครั้งที่ 4 เราก็ปรึกษาคุณหมอเรื่องเจาะน้ำคร่ำ คุณหมอไม่แนะนำอ่ะ เพราะอะไรเราก็ฟังไม่ค่อยทันเหมือนกัน ก็เลยถามคุณซูเพื่อความชัวร์ว่า คุณหมอไม่แนะนำใช่มั้ยแล้วคุณหมอพูดว่าอะไร  คุณซูก็บอกว่าใช่แล้วก็อธิบายมา ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่าทำไม แล้วอีกอย่างคุณซูก็ไม่อยากให้เจาะด้วย ก็เลยไม่ได้เจาะ





วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปศาลเจ้า Suitengu (水天宮) ขอพรให้คลอดปลอดภัย

ทางบ้านคุณพ่อคุณแม่ของคุณซูจะพาพวกเราไปไหว้ขอพรให้คลอดปลอดภัยที่ ศาลเจ้า Suitengu (水天宮)ในวันที่ 8 ก.พ. แต่วันนั้นพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีหิมะตกก็เลยเลื่อนออกไป ซึ่งวันนั้นหิมะตกหนักมาก ๆ ในรอบ 13 ปี (ของโตเกียว) ก็เลยเลื่อนมาเป็นวันนี้แทน (22 ก.พ.)
ที่เลือกวันนี้เพราะดูปฏิทินเขียนว่าเป็นวัน 大安 ถือว่าเป็นวันดี
พอไปถึงคนเยอะมาก มีทั้งที่กำลังท้อง แล้วก็มีทั้งที่อุ้มลูกมา เพราะที่ศาลเจ้านี้จะขึ้นชื่อในเรื่องของการมาขอพรให้คลอดปลอดภัย และพอคลอดแล้วก็จะพามาขอบคุณ
ขั้นตอนแรกพวกเราก็จะไปที่โต๊ะสำหรับเขียน จะมีกระดาษให้เขียนอยู่ 2 แบบ ของเราเป็นแบบขอพรให้คลอดปลอดภัย ก็จะมีเขียนชื่อตัวเอง แล้วก็เลือกชุดที่ต้องการจะซื้อ เราก็จำรายละเอียดไม่ได้แล้วว่าชุดไหนเท่าไหร่ เพราะเราเลือกที่มีผ้าคาดด้วย (เต็มชุด) ของก็จะได้ประมาณรูปด้านล่างค่ะ
(ขอบคุณรูปจาก Google นะคะ)


แล้วก็เข้าคิวยื่นกระดาษใบนี้ให้เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะให้ของชุดนั้นมาให้เรา แล้วก็เขียนชื่อเราลงในกระดาษ ซึ่งกระดาษนี้จะนำไปทำพิธี รวม ๆ ทั้งหมดก็ 9,000 เยน
พอถึงเวลาทำพิธีรอบของเรา ก็เข้าแถวแล้วก็เข้าไปในห้องทำพิธี คุณซูก็เข้าไปด้วย เขาจะมีแจกกล่องเหล้าของเทพเจ้าด้วย นอกจากเราแล้วก็จะมีคนที่ท้องคนอื่น ๆ กับสามีเขาเข้าไปด้วย
ในพิธี ผู้ทำพิธีผู้ชาย (เราก็ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร) ก็จะทำพิธี  แล้วเจ้าหน้าที่ผู้หญิงในห้อง ก็จะบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ช่วงนี้ให้ก้มหน้าทำความเคารพ ขอพร ช่วงนี้ทำอย่างนี้ ในระหว่างพิธีผู้ทำพิธีมีอ่านชื่อของคนที่ท้อง มีชื่อเราด้วย คิดว่าน่าจะเป็นการขอพรเทพเจ้าให้กับพวกเราอ่ะนะ ได้ยินชื่อตัวเองแล้วรู้สึกดีจัง
พอพิธีเสร็จก็มีให้แสดงความเคารพ เราก็อาศัยมองคนข้าง ๆ ว่าเคารพกี่ที ตบมือกี่ครั้งช่วงไหน
สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เวปนี้นะคะ
http://www.suitengu.or.jp/honour/index.html
หลังจากกลับมาบ้านแล้ว เราก็นำเครื่องรางที่มีสีแดงคาดตรงกลางมาวางไว้บนที่สูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ส่วนเครื่องรางที่มีเชือกห้อย ก็เก็บไว้ในกระเป๋าพร้อมกับสมุดสุขภาพแม่และเด็ก
ส่วนที่เป็นผ้าคาด ก็นำมาคาดท้องในวัน Inu no hi



วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

戌の日(いぬのひ) (ธรรมเนียมของญี่ปุ่นเมื่อตั้งครรภ์ได้สัปดาห์ที่ 16)

ที่ญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมที่ว่าพอตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ก็จะเลือกวันที่เป็นวัน 戌(いぬ)แล้วก็จะคาดผ้าคาดท้อง ผ้าคาดท้องจะคาดเพื่อรองรับน้ำหนักของครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกบั้นเอวขยายใหญ่มากเกินไป เพื่อป้องกันการตึงของมดลูก  เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องเย็นช่วยให้ท้องอุ่น  ฯลฯ
ผ้าคาดเอวที่ขายตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไป หน้าตาก็จะประมาณนี้ มีหลายแบบ หลายสีให้เลือก ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 - 3,000 เยน






ส่วนวิธีการดูว่าวัน 戌(いぬ)ตรงกับวันที่เท่าไหร่ของเดือน เราก็จะดูว่าครบ 16 สัปดาห์ของเราตรงกับเดือนอะไร แล้วก็ดูที่ปฏิทินของเดือนนั้น ถ้าบ้านใครมีปฏิทินแขวนคล้าย ๆ ของจีนก็ให้ดูที่เขียนว่า いぬ แบบรูปข้างล่าง แต่ถ้าไม่มีก็เสริ์จจากอินเตอร์เน็ทก็ได้ค่ะ อย่างในรูปนี้วัน いぬ ก็จะตรงกับวันที่ 9


แล้วทำไมต้องเลือกวันที่เป็น いぬ เราก็ไปอ่านเจอ แต่ไม่รุ้ว่าจะแปลอ่านเข้าใจผิดหรือเปล่า ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
คือว่าใน 12 ราศี สุนัข (ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า Inu เหมือนกัน) จะเป็นสัตว์ที่คลอดง่ายที่สุด ก็เลยเป็นที่มาของวันนี้ค่ะ

และการนับอายุครรภ์ว่ากี่เดือนแล้วของที่ญี่ปุ่นกับที่ไทยจะไม่ค่อยเหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นจะนับแบบนี้ค่ะ
สัปดาห์ที่ 0-3  อายุครรภ์ 1 เดือน
สัปดาห์ที่ 4-7 อายุครรภ์ 2 เดือน
สัปดาห์ที่ 8-11 อายุครรภ์ 3 เดือน
สัปดาห์ที่ 12-15 อายุครรภ์ 4 เดือน
สัปดาห์ที่ 16-19 อายุครรภ์ 5 เดือน
สัปดาห์ที่ 20-23 อายุครรภ์ 6 เดือน
สัปดาห์ที่ 24-27 อายุครรภ์ 7 เดือน
สัปดาห์ที่ 28-31 อายุครรภ์ 8 เดือน
สัปดาห์ที่ 32-35 อายุครรภ์ 9 เดือน
สัปดาห์ที่ 36-39 อายุครรภ์ 10 เดือน (ช่วงที่คลอด)
ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลแนะนำให้เรานับเป็นสัปดาห์ดีกว่าที่จะนับเป็นเดือนค่ะ